TFEX
5 Min Read

ศัพท์น่ารู้คู่ TFEX Part 1

by TFEX
ศัพท์น่ารู้คู่ TFEX Part 1

          สำหรับคนที่กำลังสนใจเทรด TFEX หลายคนต้องเจอกับคำศัพท์ใหม่ๆ บ้างคุ้นหู บ้างฟังแล้วยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร วันนี้เรามีสรุปคำศัพท์ฉบับน่ารู้ เมื่อต้องเทรด TFEX มาฝากกัน

1. Underlying Asset สินทรัพย์อ้างอิง
          คือ สินทรัพย์ที่ตราสารอนุพันธ์นำไปใช้อ้างอิงมูลค่า ตัวอย่างเช่น SET50 Futures สินค้าอ้างอิงคือดัชนี SET50 จะเห็นว่าสัญญาซื้อขายจะมีราคาเคลื่อนไหวตาม ดัชนี SET50 ส่วน Gold Online Futures มีสินค้าอ้างอิง คือ ราคาทองคำเป็นเงินสกุลดอลลาร์ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% แสดงว่าสัญญาซื้อขายจะมีราคาเคลื่อนไหวตาม ราคาทองคำที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ เป็นต้น

2. Long = ซื้อ
          หากเทรดอยู่แล้วเจอคำว่า Long ให้จำไปว่าคือ “ซื้อ” หรือ “การซื้อ” นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น
- หากผู้ลงทุนได้คาดการณ์ไว้ว่าราคาสินค้าอ้างอิงจะสูงขึ้น สามารถเปิดสถานะ Long หรือซื้อฟิวเจอร์สเอาไว้ ทั้งนี้หากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์เอาไว้ ก็จะทำให้ผู้ลงทุนได้กำไร

3. Short = ขาย
          ความหมายจะตรงกันข้ามกับ Long โดยคำว่า Short คือ “ขาย” หรือ “การขาย”
ตัวอย่างเช่น
- หากผู้ลงทุนมองว่าราคาสินค้าอ้างอิงมีแนวโน้มลดลง สามารถเปิดสถานะ Short หรือขายฟิวเจอร์ส เพื่อ Lock ราคาขายเอาไว้ได้ล่วงหน้า ซึ่งถ้าราคาปรับตัวลงจริงก็ปิดสถานะเพื่อทำกำไรได้

4. Multiplier ตัวคูณดัชนี
          ถือเป็นตัวเลขที่ TFEX กำหนดขึ้น ซึ่งเมื่อนำ Multiplier ไปคูณกับราคาปัจจุบันจะทำให้ทราบมูลค่าที่แท้จริงของสัญญาฟิวเจอร์สหรือออปชั่นที่ผู้ลงทุนทำการซื้อขาย

ตัวอย่างเช่น
- SET50 Futures มีตัวคูณดัชนีอยู่ที่ 200 บาทต่อ 1 จุดดัชนี ดังนั้น ถ้าปัจจุบันราคา SET50 Futures อยู่ที่ 1,000 จุด แล้ว          ผู้ลงทุนต้องการซื้อขายก็เท่ากับว่ามีการลงทุนในสัญญาที่มีมูลค่า 1,000x200 = 200,000 บาท
- Gold Online Futures มีตัวคูณดัชนีอยู่ที่ 300 (โดยไม่นำอัตราแลกเปลี่ยนมาคำนวณ) ดังนั้น ถ้าปัจจุบันราคา Gold Online Futures อยู่ที่ 1,500 $ หากผู้ลงทุนต้องการซื้อขาย ก็เท่ากับการลงทุนในสัญญาที่มีมูลค่า 1,500x300 = 450,000 บาท

5. Leverage อัตราทด
          เมื่อได้ยินคำนี้หลายคนอาจจะนึกถึงชะแลงหรือการงัด แต่ที่จริงแล้วสำหรับการเทรดใน TFEX นั้น หมายถึง การใช้เงินลงทุนน้อย โดยวางหลักประกันเพียงแค่ 10-15% ของมูลค่าสัญญา ซึ่งไม่ต้องใช้เงินเต็มจำนวน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทำกำไรหรืออาจขาดทุนก็ได้ เมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป

ตัวอย่างเช่น
- เปิดสถานะสัญญาซื้อ SET50 Futures ที่ราคา 1,000 จุด (มูลค่าสัญญา 1,000x200 = 200,000 บาท) โดยใช้เงินลงทุนเพียง 20,000 บาท แบบนี้เราเรียกว่าเป็นการลงทุนภายใต้อัตราทด 200,000/20,000 = 10 เท่า
- เปิดสถานะสัญญาซื้อ Gold Online Futures ที่ราคา 1,500 $ (มูลค่าสัญญา 1,500x300 = 450,000 บาท) โดยใช้เงินลงทุนเพียง 20,000 บาท แบบนี้เราเรียกว่าเป็นการลงทุนภายใต้อัตราทด 450,000/20,000 = 22.5 เท่า

6. Initial Margin (IM) เงินประกันขั้นต้น
          ถือเป็นจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนต้องวางเป็นหลักประกันเริ่มต้นเอาไว้กับโบรกเกอร์ ก่อนการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า โดยเป็นการวางเพื่อเป็นประกันว่าผู้ลงทุนทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายจะมีเงินเพียงพอสำหรับการปฏิบัติตามภาระผูกพันของสัญญา โดยฝั่งที่เทรดถูกจะได้กำไรจากเงินประกันขั้นต้นของฝั่งที่เทรดผิดทาง อย่างไรก็ดี เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทมีราคาและความเสี่ยงไม่เท่ากัน จึงทำให้ Initial Margin ของแต่ละสินค้าไม่เท่ากันด้วย

ตัวอย่างเช่น
- SET50 Futures เงินประกันขั้นต้น (IM) = 10,500 บาทต่อ 1 สัญญา
- Gold Online Futures เงินประกันขั้นต้น (IM) = 19,800 บาทต่อ 1 สัญญา

7. Maintenance Margin (MM) เงินประกันขั้นต่ำ
          คือ ยอดเงินหลักประกันขั้นต่ำที่ผู้ลงทุนจะต้องมีคงเหลือเอาไว้ หรือรักษาไว้ในการซื้อขายสินค้าต่างๆ ใน TFEX โดยจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของมูลค่า Initial Margin หมายความว่า หากผู้ลงทุนเปิดสถานะแล้วมีกำไร เงินในพอร์ตจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่หากขาดทุนเงินในพอร์ตจะลดลง ซึ่งหากลดลงถึงระดับ Maintenance Margin แล้วยังต้องการถือสถานะต่อ โบรกเกอร์จะเรียกให้เติมเงินหลักประกัน แต่หากไม่อยากเติมเงินก็สามารถปิดสถานะสัญญาได้

ตัวอย่างเช่น
- SET50 Futures เงินประกันขั้นต้น (IM) = 10,500 บาท เงินประกันขั้นต่ำ (MM) = 7,350 บาท
- Gold Online Futures เงินประกันขั้นต้น (IM) = 19,800 บาท เงินประกันขั้นต่ำ (MM) = 13,860 บาท

8. Volume ปริมาณการซื้อขาย
          บอกถึงจำนวนสัญญาฟิวเจอร์สหรือออปชั่นที่มีการซื้อขาย โดยนับเฉพาะสัญญาที่มีการจับคู่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น เช่น ช่วงเช้ามีคนเปิดสถานะซื้อทั้งหมด 100 สัญญา ซึ่งได้รับการจับคู่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาช่วงบ่ายมีคนปิดสถานะไป 25 สัญญา แปลว่ามีการจับคู่สัญญาสำเร็จไป 100+25 = 125 สัญญา

9. Open Interest (OI) สถานะคงค้าง
          หมายถึง จำนวนสัญญาที่มีผู้เปิดสถานะซื้อ จับคู่กับผู้เปิดสถานะขายเรียบร้อยแล้ว โดยสัญญานี้จะมีภาระผูกพัน (รอรับรู้กำไรขาดทุน) ไปจนกว่าจะมีการปิดสถานะ ซึ่งสถานะที่ยังมีภาระผูกพันนี้เราเรียกว่า สถานะคงค้างในระบบ โดยผู้ลงทุนส่วนหนึ่งจะดูปริมาณการเปลี่ยนแปลงของสถานะคงค้างนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ตัวอย่างเช่น
- วันที่ 1 เปิดสถานะ 10 สัญญา สถานะคงค้าง 10 สัญญา
- วันที่ 2 ปิดสถานะไป 3 สัญญา สถานะคงค้าง 7 สัญญา
- วันที่ 3 เปิดสถานะเพิ่ม 5 สัญญา สถานะคงค้าง 12 สัญญา

10. Volatility ความผันผวน
          คือ การแสดงให้เห็นว่าในระหว่างวันราคาของสินค้านั้นๆ จะแกว่งขึ้นลง โดยวิธีวัดความผันผวนส่วนใหญ่วัดจากระยะห่างระหว่างจุดสูงสุดกับจุดต่ำสุด ซึ่งผู้ลงทุนบางส่วนใช้ความผันผวนในอดีตเป็นเครื่องมือชี้วัดถึงโอกาสความผันผวนในปัจจุบัน เช่น หากอัตราความผันผวนในอดีตของเดือนพฤศจิกายน ของดัชนี SET50 = 15 อาจตีความได้ว่า ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หากสถานการณ์เหมือนปีที่แล้ว อาจมีความผันผวนในระดับ = 15 หรือใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งสามารถนำไปวางแผนสำหรับการลงทุนรายวัน หรือรายสัปดาห์ได้ เป็นต้น

ดูรายละเอียดสินค้าใน TFEX เพิ่มเติมได้ที่นี่ linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด TFEX คำศัพท์
บทความที่เกี่ยวข้อง