สำหรับผู้ลงทุนที่มีการลงทุนในหุ้นรายตัวจะต้องเจอกับความผันผวนของตลาดการลงทุนตามช่วงสภาวะตลาดที่มีทั้งช่วงตลาดขาขึ้น ตลาดขาลง หรือไซด์เวย์ ทำให้ในบางช่วงจังหวะมูลค่าของพอร์ตการลงทุนอาจตกลงไปตามสภาวะตลาดได้ ซึ่งตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ป้องกันความเสี่ยงหรือใช้บริหารพอร์ตการลงทุน เช่น ฟิวเจอร์ที่อ้างอิงหุ้นรายตัว หรือฟิวเจอร์ที่อ้างอิงดัชนี SET50
ผู้ลงทุนจึงสามารถใช้อนุพันธ์อย่างฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ได้ ด้วยการเปิดสถานะ Futures ในฝั่งตรงข้ามกับสถานะที่ถือไว้ เมื่อเราป้องกันความเสี่ยงขาลงโดยการเปิดสถานะขาย (Short Open) แล้วตลาดลงจนเกิดผลขาดทุนจากราคาหุ้นที่ถือไว้ลดต่ำลง ก็จะมีผลกำไรจาก Futures มาชดเชยแทน กลับกันหากเรากำไรจากราคาหุ้นที่ถือไว้ ก็จะมีผลขาดทุนจาก Futures ที่เราเปิดสถานะขายไว้แทน ทั้งหมดเพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นที่ผู้ลงทุนถือครองอยู่
ตัวอย่างการใช้ Stock Futures ในการบริหารความเสี่ยง
สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรายตัว จะมีความเสี่ยงหากราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนกระทบมูลค่าการลงทุน เราสามารถใช้ Stock Futures ป้องกันความเสี่ยงตามหุ้นและปริมาณที่มีได้ดังนี้
ผู้ลงทุนคาดว่าหุ้น PTT ที่มีในพอร์ตจำนวน 10,000 หุ้น น่าจะซบเซาลงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่เตรียมประกาศผลประกอบการของบริษัท (ตัวคูณสัญญา Stock Futures เท่ากับ 1,000 บาท)
ณ วันเริ่มต้น
เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หากราคาหุ้น PTT ปรับตัวลงลงเหลือ 29.50 บาท และราคา PTT Futures ลงอยู่ที่ 29.30 บาท
ดังนั้นแม้ผู้ลงทุนจะมีผลขาดทุนจากมูลค่าหุ้นที่ถือครองแต่จะได้ส่วนต่างกำไรจากฟิวเจอร์สในอัตราที่ใกล้เคียงกันมาชดเชย โดยผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะสัญญา Stock Futures ได้ในกรณีที่คาดว่าราคาหุ้นอาจจะไม่ปรับตัวลงแล้ว
ตัวอย่างการใช้ SET50 Index Futures ในการป้องกันความเสี่ยงจากพอร์ตการลงทุน
สำหรับผู้บริหารกองทุนหรือผู้ลงทุนที่ลงทุนในรูปแบบ Portfolio ในตลาดหุ้นไทย อาจจะใช้ SET50 Index Futures ในการป้องกันความเสี่ยงจากตลาดขาลงได้ ด้วยการคำนวณจำนวนสัญญาฟิวเจอร์สที่ต้องใช้ในการป้องกันความเสี่ยง โดยใช้ค่า Beta ประกอบ ซึ่ง Beta คือค่าความสัมพันธ์ระหว่าง Portfolio อ้างอิงเมื่อเทียบกับตลาด โดยค่า Beta ของตลาดจะเท่ากับ 1 หากค่า Beta ของ Portfolio เท่ากับ 1 เช่นกันหมายความว่าผันแปรตามตลาด 100% แต่หากค่า Beta มากกว่า 1 หมายความว่า Portfolio นี้มีความผันผวนมากกว่าตลาด และหากค่า Beta ต่ำกว่า 0 หมายความว่า Portfolio นี้ให้ผลตอบแทนสวนทางกับตลาด
วิธีการหา Beta หุ้นรายตัว
เราสามารถหาค่า Beta ของหุ้นรายตัวได้จากข้อมูลที่ตลาดฯ คำนวณไว้ให้ที่ www.settrade.com โดยพิมพ์ชื่อหุ้นที่ต้องการ เลือกแทปข้อมูล Factsheet สังเกตตรงชุดข้อมูลสถิติจะเจอกับข้อมูล Beta ของหุ้นตัวนั้น
วิธีการหา Beta ของ Portfolio
หาได้ด้วยการนำ Beta ของหุ้นแต่ละตัวที่มีในพอร์ตมาคิดค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก
βP = (W1 x B1) + (W2 x B2) + (W3 x B3) + ...
W = สัดส่วนมูลค่าของหุ้นในพอร์ตตัวที่ 1, 2 จนถึงตัวสุดท้าย
B = Beta ของหุ้นตัวที่ 1, 2 จนถึงตัวสุดท้าย
เช่น Portfolio มูลค่า 4,750,000 บาท
มีหุ้น A มูลค่า 1,900,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 0.4 และมีค่า Beta = 1.4
มีหุ้น B มูลค่า 1,900,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 0.4 และมีค่า Beta = 1.1
มีหุ้น C มูลค่า 950,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2 และมีค่า Beta = 1
เมื่อนำสัดส่วนมูลค่าหุ้นและค่า Beta แต่ละตัวมาแทนค่าในสูตรจะได้ค่า βP = (0.4 x 1.4) + (0.4 x 1.1) + (0.2 x 1) หรือ Beta Portfolio = 1.2 นั่นเอง
การประยุกต์นำไปใช้งานต่อ จากตัวอย่างเดิมหากเรามี Portfolio มูลค่า 4,750,000 บาท และมี βP = 1.2 ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ลงทุนคาดการณ์ไว้ว่าตลาดจะเป็นขาลง และต้องการปรับ Beta ของ Portfolio ให้เป็น 0.8 ในขณะที่ SET50 Index Futures ราคาอยู่ที่ 950 จุด (ตัวคูณสัญญาเท่ากับ 200 บาท) มูลค่าสัญญา SET50 Index Futures ต่อ 1 สัญญา จึงเท่ากับ 190,000 บาท
คำนวณด้วยวิธีการดังนี้
จำนวนสัญญาฟิวเจอร์ส = (Vp / Vf) x (BetaP - BetaT)
Vp = มูลค่าของ Portfolio
Vf = มูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์ส 1 สัญญา
BetaP = Actual Beta
BetaT = Target Beta
คำนวณจำนวนสัญญาฟิวเจอร์ส = (4,750,000 / 190,000) x (1.2 - 0.8)
เมื่อนำมูลค่าของ Portfolio และมูลค่าของสัญญา SET50 Index Futures มาหารกัน (4,750,000 / 190,000) จะได้จำนวนสัญญาที่ต้องใช้ 25 สัญญา ซึ่งจำนวนนี้จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงเต็ม 100% ของมูลค่า แต่เมื่อนำค่า Beta มาคำนวณต่อโดยต้องการป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วนตามค่า Beta ที่ต้องการ (1.2 - 0.8) คูณกับจำนวนสัญญาจะได้คำตอบว่าต้องใช้ SET50 Index Futures จำนวน 10 สัญญา ซึ่งเราจะป้องกันความเสี่ยงขาลงด้วยการ Short Open
หากเวลาผ่านไป 1 เดือน ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 5%
SET50 Index Futures เหลือ 902.5 จุด ลดลง 47.5 จุด
หากไม่ป้องกันความเสี่ยง มูลค่า Portfolio ควรลดลง 1.2 x 5% = 6% หรือลดลง 285,000 บาท
กำไรที่ได้ชดเชยจากฟิวเจอร์ส (950 - 902.5) x 10 x 200 = 95,000 บาท
ดังนั้นมูลค่า Portfolio จะลดลงเท่ากับ 190,000 หรือลดลง 4% คิดเป็น Beta เท่ากับ 0.8 นั่นเอง
ทำให้มูลค่า Portfolio เหลือเท่ากับ (4,750,000 - 285,000 + 95,000) = 4,560,000 บาท
** ค่า Beta เป็นข้อมูลเชิงสถิติที่นำข้อมูลผลตอบแทนในอดีตมาคำนวณเท่านั้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเมื่อมีข้อมูลชุดใหม่เข้ามาประกอบการคำนวณ เราจึงไม่สามารถยึดค่า Beta ที่เคยคำนวณได้ในอดีตโดยตีความว่าผลตอบแทนในอนาคตจะเกิดขึ้นเท่าเดิม