แนวคิดเทรดทำกำไรฟิวเจอร์สจากแนวโน้มราคา
นอกเหนือจากเทคนิคในการเทรด หรือใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพประกอบการตัดสินใจลงทุนแล้ว หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้ลงทุนประสบความสำเร็จในการเทรดฟิวเจอร์ส คือ “ทัศนคติ” ในการลงทุนเพื่อบริหารและรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
7 Mindset ในการเทรด Futures
- วิเคราะห์ทิศทางให้มั่นใจตามเหตุและผล ก่อนเริ่มลงทุนทุกครั้ง
ผู้ลงทุนควรเริ่มต้นด้วยความเข้าใจก่อนว่าจะเปิดสถานะลงทุน ไม่ว่าจะซื้อ (Long) หรือขาย (Short) ในสัญญา Futures ด้วยเหตุผลอะไร ไม่ว่าจะใช้ปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยทางเทคนิคก็ตาม อย่าลงทุนเพียงเพราะฟังเขาเล่าว่า หรือบอกมา เพราะทุกคำแนะนำมักจะมีสมมุติฐานอยู่เสมอ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจสมมุติฐานของผู้แนะนำ และพิจารณาตามเหตุและผลว่าสมมุติฐานนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ก่อนตัดสินใจลงทุน
- อย่ามั่นใจจนเกินไป ควรเผื่อใจไว้บ้าง และวางแผนรองรับ
การเทรดด้วยความมั่นใจแบบไม่เผื่อความผิดพลาดนั้น การขาดทุนเพียงครั้งเดียวอาจสร้างความเสียหายได้อย่างมาก เริ่มต้นต้องเข้าใจก่อนว่าทุกครั้งที่ผู้ลงทุนวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจลงทุนมักจะมาจากข่าวสาร การคาดการณ์ปัจจัย หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งทุกข้อที่กล่าวมาล้วนแต่มีโอกาสผิดพลาดได้ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ลงทุนควรเผื่อใจไว้ในกรณีแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามคาดซึ่งควรวางจุดตัดขาดทุนให้ชัดเจนเพื่อจำกัดความเสี่ยงด้วย เพื่อให้เราสามารถเริ่มต้นเทรดใหม่ได้ในครั้งถัดไป
- การลงทุนไม่ใช่การพนัน ราคาเคลื่อนไหวตามสินทรัพย์อ้างอิง
การลงทุนในสัญญา Futures ราคาจะเคลื่อนไหวตามสินทรัพย์อ้างอิง ต่างจากการพนันที่ใช้ความน่าจะเป็น ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคานั้นมักเกิดจากเหตุปัจจัยที่มากระทบต่อราคาสินทรัพย์ ดังนั้นผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพราะแต่ละสินทรัพย์จะเคลื่อนไหวตามปัจจัยแต่ละอย่างไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน สินทรัพย์อย่าง SET50 Index Futures ก็อาจจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักส่วน Gold Online Futures ก็อาจเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก
ตลาดการลงทุนมี 2 อารมณ์คือโลภ (Greedy) และกลัว (Fear) อยู่เสมอ แต่ไม่ว่าจะไปในทางใดก็ไม่ดีทั้งสิ้น เพราะถ้าหากโลภมากไปก็อาจจะทำให้เกิดความมั่นใจจนเกินพอดี หรือถ้าหากกลัวเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้ลงทุนไม่กล้าที่จะลงทุนในอะไรสักอย่าง ดังนั้นผู้ลงทุนควรจะใช้เหตุผลในการตัดสินใจลงทุนมากกว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ
ผู้ลงทุนส่วนหนึ่งเมื่อเผชิญความเสี่ยงและขาดทุนจากการลงทุน จะมีความคิดต้องการรีบเอาคืนจากที่ได้ขาดทุนไปซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาดทุนเพิ่มได้อีก หากแนวโน้มนั้นยังไม่ชัดเจนพอ เช่น ถ้าผู้ลงทุนใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะทราบว่าหากราคานั้นเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้ม มันจะเคลื่อนไปในแนวโน้มเดิมนั้นสักระยะก่อนจะมีการเปลี่ยนแนวโน้ม หรือจะเรียกได้ว่าในตลาดนั้นมีรอบในการลงทุน ผู้ลงทุนควรรอจังหวะตามแผนที่วางไว้และเริ่มลงทุนเมื่อมั่นใจเสมอ หากฝืนเทรดโดยยังไม่มีสัญญาณหรือยังไม่ได้ตามแผนอาจยิ่งสร้างความเสียหายเพิ่มได้อีก
- การลงทุนไม่จำเป็นต้องถูกทุกครั้งเพียงแค่ถูกมากกว่าผิดก็อยู่ได้
ผู้ลงทุนส่วนหนึ่งมักเชื่อว่าทุกครั้งที่ลงทุนจะต้องได้กำไร แต่หากเราไปถามนักลงทุนรุ่นพี่หรือผู้ที่อยู่ในตลาดการลงทุนมายาวนานจะพบว่าทุกคนล้วนเคยขาดทุน แต่ส่วนที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการลงทุนได้นั้นคือการทำให้อัตราการลงทุนถูก สูงกว่าอัตราการลงทุนที่ผิด และมีวินัยในการลงทุน ดังนั้นในฐานะนักลงทุนเราควรเริ่มเข้าใจว่าการลงทุนนั้นผิดได้แต่ต้องรู้จักตัดขาดทุนให้เป็น โดยเรียนรู้จากความผิดพลาดว่าเราตัดสินใจพลาดเพราะอะไร และหาความรู้ด้านการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มทักษะและโอกาสความสำเร็จในการลงทุน
- ยังไม่ปิดสถานะไม่ได้หมายความว่าไม่ขาดทุน
ความเชื่อว่าไม่ปิดสถานะไม่ขาดทุน นั่นไม่ใช่ความจริง เพราะตลาด Futures มีการคิดกำไรขาดทุนตลอดเวลา ผู้ลงทุนใช้การวางหลักประกันเพียงเล็กน้อยในการลงทุนหากยังไม่ปิดสถานะจะเป็นลักษณะ Unrealized Profit/Loss ดังนั้นเมื่อผิดทางและขาดทุนอาจจะทำให้ผู้ลงทุนต้องเพิ่มเงินประกันจนอาจไปถึงระดับที่ผู้ลงทุนไม่สามารถเติมหลักประกันได้ เพราะฉนั้นหากผิดทางแล้วคิดจะถือสถานะขาดทุนไปเรื่อย ๆ โดยหวังเพียงว่าราคาน่าจะกลับมาที่จุดเดิมแบบที่ไม่มีแผนรองรับนั้นเป็นสิ่งไม่ควรทำ นอกจากนี้สัญญา Futures ยังมีอายุของสัญญานั่นหมายความว่าผู้ลงทุนจะสามารถถือสถานะสัญญาได้ถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะต้องรับรู้ขาดทุนเมื่อครบอายุสัญญา
7 เทคนิค Money Management ในการเทรด Futures
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนในตลาด TFEX เนื่องจาก Futures เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีอัตราทดหรือ Leverage การเริ่มต้นจึงอาจจะทดลองเทรดทีละสัญญาจนเข้าใจวิธีการ กระบวนการและสามารถนำไปประยุกต์บริหารความเสี่ยงได้จึงค่อยเพิ่มสถานะการลงทุน
- วางเงินมากกว่าหลักประกันที่กำหนด
ในการลงทุน Futures ผู้ลงทุนจะต้องวางหลักประกันก่อนการลงทุน โดยในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีอัตราหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ที่กำหนด เมื่อผู้ลงทุนเริ่มเปิดสถานะลงทุนในทุก ๆ สิ้นวัน ตลาดจะทำการ mark-to-market หรือคำนวนกำไรขาดทุนให้ในทุกสิ้นวัน หากผู้ลงทุนมีกำไรในวันนั้นจำนวนเงินประกันที่วางไว้ก็จะเพิ่มขึ้น แต่หากวันนั้นผู้ลงทุนมีผลขาดทุนอัตราหลักประกันก็จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน และถ้าหลักประกันที่ผู้ลงทุนวางไว้มีระดับต่ำกว่า 70% ของอัตราหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) จนถึงระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ผู้ลงทุนจะต้องทำการเพิ่มหลักประกัน (Call Margin) ให้กลับมาสู่ระดับที่เท่ากับอัตราหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ดังนั้นเพื่อจำกัดความเสี่ยงในการต้องเพิ่มอัตราหลักประกันระหว่างถือครองสัญญา ผู้ลงทุนจึงควรวางหลักประกันให้เกินกว่าอัตราหลักประกันขั้นต้น
และด้วยการที่สัญญา Futures เป็นการลงทุนที่ใช้อัตราทดหรือ Leverage ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ดังนั้นผู้ลงทุนอาจจะจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ให้สูงเกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้ลงทุนมี เช่น ถ้าผู้ลงทุนมีเงินลงทุน 1 ล้านบาท หากสัญญา Futures มีอัตราทด (Leverage) 10 เท่า นั่นหมายความว่าผู้ลงทุนสามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าถึง 10 ล้านบาทได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดกำไรขาดทุนจะเท่ากับว่าเราลงทุนในสินทรัพย์มูลค่า 10 ล้านบาท หรืออีกความหมายหนึ่งถ้าเราขาดทุนจากการที่ราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงเพียง 10% (เป็นมูลค่า 1 ล้านบาท) ก็อาจจะทำให้เงินลงทุนที่เรามีนั้นหมดไปทั้งก้อน ดังนั้นผู้ลงทุนควรเข้าใจก่อนว่ามูลค่าเต็มต่อสัญญาของสินทรัพย์ที่เราเลือกนั้นอยู่ที่เท่าไร แล้ววางเงินหลักประกันให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของสินทรัพย์นั้น เช่น หากสินทรัพย์นั้นมีมูลค่าต่อสัญญาอยู่ที่ 100,000 บาท และราคาสินทรัพย์นี้มีโอกาสแกว่งตัวได้ถึง 20% ถ้าสินทรัพย์นี้กำหนดอัตราหลักประกันตามอัตราทด (Leverage) ที่ 10 เท่า เราสามารถวางเงินขั้นต่ำตามเกณฑ์ได้ที่ 10,000 บาท แต่หากพิจารณาการแกว่งตัวของราคาร่วมด้วย เราจึงอาจจะวางหลักประกันเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ในการเทรด 1 สัญญา เพื่อรองรับการแกว่งตัวของราคาในอนาคต
คิดคำนวณจาก (มูลค่าสินทรัพย์ต่อสัญญา 100,000 x กรอบราคา 20%) = 20,000 บาท หรือหมายความว่าเราสามารถสร้างกำไรหรือมีโอกาสขาดทุนได้ถึง 20,000 บาท จากสินทรัพย์อ้างอิงมูลค่าเต็ม 100,000 บาท หากราคาสินทรัพย์นั้นแกว่งตัวตามกรอบที่ 20%
แต่ถ้าเราวางหลักประกันขั้นต่ำตามเกณฑ์ล่ะจะเป็นอย่างไร จากตัวอย่างเดิมข้างต้นถ้าสินทรัพย์มูลค่าต่อสัญญาอยู่ที่ 100,000 บาท ใช้อัตราหลักประกันตามอัตราทด (Leverage) ที่ 10 เท่า โดยเราวางหลักประกันขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ 10,000 บาท ถ้าราคาสินทรัพย์ปรับตัวผิดทางเพียงแค่เล็กน้อยโดยเราตัดขาดทุนออกจำนวน 500 บาท หลักประกันเราจะเหลือ 9,500 บาท ทำให้ไม่สามารถเปิดสัญญาเทรดในครั้งถัดไปได้ ต้องเติมหลักประกันเพิ่มให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด 10,000 บาท อาจทำให้เสียโอกาสในการเทรดครั้งถัดไป หรือถ้าหากวางหลักประกันมากขึ้นถึง 30,000 บาท แต่เทรดด้วยจำนวน 3 สัญญา ก็อาจต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นตาม เพราะฉนั้นเราควรทราบก่อนว่าสินทรัพย์ที่เทรดนั้นมีมูลค่าต่อ 1 สัญญาเท่าไร ควรวางหลักประกันประมาณกี่เปอร์เซ็นของมูลค่าสินทรัพย์นั้น เช่น 20 - 30% ตามระดับความเสี่ยงและพฤติกรรมของสินทรัพย์นั้น
- กำหนดระดับตัดขาดทุนทุกครั้ง
ในทุกครั้งที่ผู้ลงทุนเปิดสถานะลงทุนในสัญญา Futures สิ่งที่ควรจะกำหนดให้ชัดเจนคือ “ระดับในการทำกำไร” และ “ระดับที่จะตัดขาดทุน” เพื่อจำกัดความเสี่ยง นักลงทุนส่วนหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในตลาด Futures เนื่องจากไม่มีการกำหนดระดับตัดขาดทุน เมื่อราคาไม่เป็นไปตามคาดและไม่ยอมตัดขาดทุน จะทำให้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก โดยเทคนิคที่นิยมใช้ จะกำหนดระดับการทำกำไรให้สูงกว่าระดับในการตัดขาดทุน เช่น ตั้งระดับทำกำไรเมื่อมีกำไร 5% และกำหนดระดับตัดขาดทุนเมื่อมีผลขาดทุน 3% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดว่ามีความผันผวนมากน้อยเพียงใด ผู้ลงทุนสามารถปรับระดับกำไรและตัดขาดทุนได้ตามความเหมาะสมกับการลงทุนในแต่ละครั้ง
- ไม่ใช้ Spread เพื่อจำกัดขาดทุนเมื่อผิดทาง
เมื่อทิศทางของราคาไม่เป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ เราไม่ควรใช้การเปิดสถานะสัญญาตรงกันข้ามใน Series ที่ต่างกัน (Spread Trading) เพื่อเป็นการล๊อคขาดทุน แต่ควรตัดขาดทุนเพื่อรอจังหวะลงทุนใหม่ในคราวถัดไป เพราะการเปิด Spread นอกจากจะไม่ทำให้เกิดกำไรและยากต่อการปิดสถานะในอนาคตแล้ว ยังจะทำให้ผู้ลงทุนเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเพิ่มโดยไม่จำเป็น
- ไม่ใช้วิธีลงทุนแบบคูณ 2 เพื่อเอาคืน
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ลงทุนอาจจะเกิดการขาดทุนจำนวนมาก คือต้องการเอาคืน เวลาที่เกิดความผิดพลาดก็จะเพิ่มจำนวนสัญญา Futures ให้มากขึ้นอีกเท่าหนึ่ง เช่น เดิมทีลงทุนครั้งละ 1 สัญญา แต่เมื่อขาดทุนอยากได้คืนเร็วก็ใช้วิธีเบิ้ลเป็น 2 สัญญา แบบนี้จะทำให้ผู้ลงทุนเพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากผิดทางอีกจะแก้ตัวได้ยาก และเกิดขาดทุนจำนวนมาก ถ้าโชคดีอาจจะถูกบ้างในครั้งถัดไป แต่ระยะยาวเราไม่ได้ใช้โชคในการเทรด หากผิดพลาดติดกัน 4-5 ครั้งซึ่งในตลาดการลงทุนสามารถเป็นไปได้ จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก
- ปิดทำกำไรบางส่วนเพื่อรับรู้กำไร
การลงทุนในสัญญา Futures แม้จะมีการคิดกำไรขาดทุนทุกสิ้นวัน ทำให้ผู้ลงทุนเห็นกำไรเพิ่มขึ้นในพอร์ตของตนเองแต่กำไรที่เห็นยังไม่ใช่กำไรที่แท้จริง (Unrealized Profit) เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนมีกำไรและมีการลงทุนจำนวนสัญญาที่สูง ผู้ลงทุนอาจจะแบ่งจำนวนสัญญาบางส่วนออกมาปิดทำกำไร เพื่อปรับความเสี่ยงของพอร์ตลงและรับรู้กำไรที่แท้จริง หากในอนาคตราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยก็จะมีกำไรจากส่วนที่ปิดสถานะแล้วบางส่วน
ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเพื่อให้ผู้ลงทุนทุกท่านสามารถใช้สัญญา Futures ได้อย่างเหมาะสม แต่นอกเหนือจาก Mindset และ Money Management แล้ว สิ่งที่สำคัญคือความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ลงทุนกำลังจะลงทุน รวมถึงการติดตามข่าวสารด้านการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน