TFEX FX Futures Trading Challenge 2022
สรุปประเด็น Workshop "Orientation พร้อมทำความรู้จักสินค้า TFEX FX Futures ชุดใหม่”
โอกาสทำกำไรในค่าเงินต่างประเทศของสายเทรด FX มาถึงแล้ว! มาทำความรู้จักกับสินค้า FX Futures ชุดใหม่ ซึ่งจะเปิดให้ซื้อขายเร็ว ๆ นี้ ที่ตลาด TFEX โดยมี 2 คู่สกุลเงินด้วยกัน ได้แก่ EUR/USD Futures และ USD/JPY Futures จุดเด่นของสินค้านี้คือการคิดกำไรขาดทุนเป็นเงินบาททำให้ไร้กังวลเรื่องการแลกเงิน ได้มาตรฐานภายใต้โบรกเกอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) รวมถึงมีกฎหมายคุ้มครอง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นสินค้าที่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนอื่นมาเริ่มเรียนรู้ปัจจัยที่กระทบค่าเงินและทำความเข้าใจในตัวสินค้าไปกับ คุณเดชธนา ฟางสะอาด ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล. พาย เนื้อหาจะเป็นอย่างไร ไปดูสรุปเนื้อหาสำคัญของ Workshop ครั้งนี้กันได้เลย
ความหมายของ Currency
ในแต่ละประเทศจะมีสกุลเงินที่ใช้ในการใช้จ่ายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าบริการเป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน หากมี Demand ต้องการเงินสกุลในประเทศนั้นๆ มากขึ้น สกุลเงินนั้นก็จะแข็งค่าหรือมีค่ามากขึ้นจากความต้องการที่มากกว่า ยกตัวอย่าง USD/THB ลองเปรียบเทียบกับการซื้อสินค้าโทรศัพท์ราคา $1,000 เมื่อก่อนค่าเงินดอลลาร์อยู่ที่ 32 บาท เราจ่ายเงินซื้อโทรศัพท์ที่ 32,000 บาท ถ้าปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์อยู่ที่ 36 บาท เราต้องใช้เงินถึง 36,000 บาท ในการซื้อสินค้าเดิม ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเสียเปรียบจากการแข็งหรืออ่อนค่าของสกุลเงิน เราสามารถนำ Futures เข้ามาใช้ ซึ่งนอกจากจะใช้บริหารป้องกันความเสี่ยงแล้วยังสามารถนำไปเก็งกำไรได้ด้วยเช่นกัน
การอ่านสัญลักษณ์หรือ Symbol ของสินค้า จากตัวอย่าง USD/THB เราจะยึดสกุลเงินที่ขึ้นต้นเป็นหลัก ความหมายคือเงิน 1 ดอลลาร์จะแลกได้กี่บาท หากกราฟสูงขึ้นคือดีต่อดอลลาร์ แปลว่าเราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อแลกดอลลาร์ หรือก็คือดอลลาร์แข็งค่าและบาทอ่อนค่า เช่นเดียวกันกับ EUR/USD คือ 1 ยูโรจะแลกได้กี่ดอลลาร์ และ USD/JPY คือ 1 ดอลลาร์จะแลกได้กี่เยน
สิ่งที่ควรระมัดระวังในการเทรดสินค้าใหม่
- จุดทศนิยมของสินค้า
EUR/USD จะใช้ถึงทศนิยมถึง 4 ตำแหน่ง เช่น 1.0025 ต่างจาก USD/JPY ที่มีทศนิยม 2 ตำแหน่ง เช่น 144.17 โดยมูลค่าของแต่ละ Tick Size ที่ขยับ จะอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อสัญญาเท่ากัน
- เวลาเปิดปิดทำการ
ตลาด TFEX นั้นสามารถเทรดได้ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงประมาณเที่ยงคืน ต่างจากการเทรด FX ที่ต่างประเทศ ซึ่งช่องว่างเวลาช่วงนี้เราต้องพิจารณาความเสี่ยงในการถือสถานะข้ามวันด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน
ค่าเงินนั้นมีหลากหลายปัจจัยที่กระทบทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทางที่นำมาเปรียบเทียบกัน รวมถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจหรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศนั้นก็เป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อค่าเงิน
- GDP หรือ Gross Domestic Product การเทียบเราก็ต้องเทียบ GDP ทั้ง 2 ประเทศของสกุลเงินนั้น แนวโน้มอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตลาดมักจะเล่นกับอนาคตล่วงหน้า ไม่ได้อยู่เฉพาะกับตัวเลขที่ประกาศออกมาปัจจุบัน การที่ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้น แปลว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
C = Consumption หรือการบริโภคภาคเอกชน เช่น การซื้อของออนไลน์ ดูหนัง ชำระค่าน้ำ หากตัวเลขนี้ไม่โตขึ้นแปลว่าประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย สะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีนัก
I = Investment หรือการลงทุนภาคเอกชน เช่น การซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ ลงทุนพัฒนาซอฟแวร์ ก่อสร้างอาคารสำนักงาน
G = Government Spending เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดของฝั่งรัฐบาล เช่น รถไฟความเร็วสูง อาวุธเทคโนโลยี โครงการคนละครึ่ง
X-M = Export – Import เปรียบเทียบการส่งออกกับนำเข้า หากส่งออกมากกว่าแปลว่าประเทศมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ตัวเลข GDP ยิ่งสูงมักจะเป็นผลดีต่อค่าเงินนั้น ซึ่งหาข้อมูล GDP ได้จากเว็บไซต์ของสภาพัฒน์
- Balance of Payment
หรือดุลการชำระเงิน คือบัญชีผลสรุปของเงินที่ไหลเข้าออกของประเทศ ที่เกิดจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น รายไตรมาสหรือรายเดือน ดูว่าประเทศเกินดุลอยู่หรือว่าขาดดุล ประกอบด้วย 1) ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) และ 2) ดุลบัญชีเงินทุน (Capital and Financial Account)
1) ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account)
เป็นผลรวมของดุลการค้าที่พิจารณาจากการส่งออกกับนำเข้า ดุลบริการอย่างเรื่องการท่องเที่ยว เงินโอนระหว่างประเทศ และรายได้จากการทำงาน ซึ่งตัวเลข Current Account ยิ่งสูงมักจะเป็นผลดีต่อค่าเงินนั้น
2) ดุลบัญชีเงินทุน (Capital and Financial Account)
คือส่วนของการลงทุน มีส่วนประกอบคือ บัญชีทุนและบัญชีการเงิน ที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การลงทุนในตลาดเงินอย่างหุ้น พันธบัตร ฯลฯ
- Bond
คือตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ซึ่งมีผู้กู้ที่เป็นบริษัทหรือรัฐบาล เป็นผู้ออกพันธบัตรมาให้นักลงทุนเลือกซื้อ โดยมีอัตราผลตอบแทนหรือ Bond Yield ให้พิจารณา ทั้งนี้ ตัวเลข Bond Yield ยิ่งสูงมักจะเป็นผลดีต่อค่าเงิน
ยกตัวอย่าง FED Rate ของอเมริกานั้นปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่า ECB Rate ของยุโรป ทำให้แนวโน้มค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลข Bond Yield หาได้จากเว็บไซต์ Thaibma.or.th
- Inflation
คือค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าหรือบริการ ที่เปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือการที่ค่าเงินด้อยค่าลง ตัวเลขเงินเฟ้อยิ่งสูงมักจะเป็นผลเสียต่อค่าเงิน
ยกตัวอย่างตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาที่ออกมาสูง แต่ทางฝั่งยุโรปออกมาสูงมากกว่าฝั่งอเมริกาอีก ก็เป็นปัจจัยทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง
- Real Yield
คือการหักลบกันของ Bond Yield – Inflation การที่เราดูแค่ผลตอบแทนอย่างเดียวอาจจะไม่ถูก ควรต้องดูเงินเฟ้อด้วย ว่าหักลบแล้วเหลือผลตอบแทนที่แท้จริงเท่าไร กลายเป็นติดลบหรือไม่ ตัวเลข Real Yield ยิ่งสูงมักจะเป็นผลดีต่อค่าเงิน
ยกตัวอย่าง Real Yield ของฝั่งอเมริกาที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับทางฝั่งยุโรปที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
- ปัจจัยอื่นๆ ภัยพิบัติ สงคราม โรคระบาด
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินทั้งสิ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นจะฟื้นตัวจากการระบาดของ Covid-19 ค่อนข้างช้า หรือจากสังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนอยู่สูง ก็เป็นอีกปัจจัยลบหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง
ประมาณการปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปี 2023
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ นั้นไม่ได้ผันแปรไปตามนั้น 100% บางครั้งการที่ค่าเงินแปรผกผัน นั่นคือ อาจจะมีปัจจัยพิเศษอื่นๆ แทรกเข้ามา ต้องดูว่าช่วงเวลานั้นตลาดให้ความสำคัญกับปัจจัยอะไร แล้วทำไมค่าเงินถึงเคลื่อนไหวผิดปกติแบบนั้น หากลองมอง GDP ของอเมริกาเทียบกับญี่ปุ่น ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นเติบโตสูงกว่าอเมริกา แต่ค่าเงิน USD/JPY กลับตรงข้าม ดอลลาร์แข็งค่าสวนทางกับเยนที่อ่อนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากตัวเลข GDP ที่เติบโตนั้นมูลค่าไม่ได้สูงมากนักหรือมีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าเข้ามากระทบ
ตัวนักลงทุนยังให้ความสำคัญกับประเด็น Real Yield อีก 1-2 ปี เพราะช่วงนี้หลายๆ ประเทศปรับนโยบายทางการเงิน โดยเฉพาะอเมริกาที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่เป็นขาลงมายาวนาน ทั้งหมดก็เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากสถานการณ์เหล่านี้เริ่มนิ่งก็จะกลับมาดูเรื่องตัวเลข GDP และ Current Account กันต่อ ซึ่งภาพรวมตอนนี้ดอลลาร์ก็ยังแข็งค่า แนะนำให้อยู่ฝั่งซื้อดอลลาร์มากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูผลการประชุม FED ไปด้วยกัน
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
ควรมองภาพออกให้ก่อนว่าลักษณะตอนนี้เป็น Trending หรือ Trading ภาพใหญ่มีเทรนด์ที่ชัดเจนไหม หรือเป็นลักษณะ Sideway ควรเลือกฝั่งตามเทรนด์ ถ้าเป็นขาขึ้นก็ควรอยู่ฝั่ง Long เป็นหลัก แล้วจับจังหวะเข้าเปิดสถานะ เช่น หากราคาปรับตัวย่อลงแล้วเกิดสัญญาณการกลับตัวขึ้น โดยที่เทรนด์ยังไม่เปลี่ยน เป็นต้น และหากเกิดสถานการณ์ผิดเพี้ยนทำให้แนวโน้มใหญ่เสียก็ต้องพร้อมกลับมาอยู่ฝั่ง Short ให้ได้ทันที อย่างไรก็ดี ก่อนจะเข้าทำสถานะใดๆ ควรพิจารณาเทรนด์ด้วยว่าตอนนี้เป็นต้นเทรนด์ กลางเทรนด์ หรือปลายเทรนด์ เพื่อให้ได้การบริหารจัดการการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด
ตัวอย่างการใช้เส้นค่าเฉลี่ย EMA75 ในค่าเงินดอลลาร์
ราคาจะขึ้นได้ต้องอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย เมื่อใดที่ราคาเริ่มตัดเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นมาจึงเป็นโอกาสที่แนวโน้มอาจจะเริ่มต้นเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ซึ่งภาพรวมตอนนี้ยังเป็นขาขึ้นอยู่
ตัวอย่างการใช้เครื่องมือ Heikin-Ashi ในค่าเงินยูโร
ควรเปิดสถานะฝั่งเดียวกับสีแท่งเทียนช่วงนั้น โดยมีจุด Stoploss ที่หัวของต้นทาง การที่มีจุด Stoploss จะทำให้เราคุมความเสี่ยงไว้ได้โดยสามารถปล่อย Profit Run พร้อมกับขยับจุด Stoploss เข้ามาเรื่อยๆ หากถูกทางจะเป็นการจำกัดความเสี่ยงได้อย่างดี ซึ่งภาพรวมก็ยังเป็นขาลงอย่างชัดเจน
สุดท้ายนี้ ทุกสิ่งไม่มีอะไรที่แน่นอน 100% ควรลงทุนด้วยสติ ลงทุนด้วยความเข้าใจ เราใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อมาศึกษาหาโอกาสความน่าจะเป็นหลังจากนี้ พร้อมบริหารความเสี่ยงรับมือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งการจะอยู่รอดในสนามการเทรดควรต้องรู้และเข้าใจในเรื่องอื่นไปด้วย การใช้เครื่องมือเทคนิคเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ควรต้องเข้าใจเรื่อง Money Management, Psychology และ Mindset ไปด้วยกัน
การเรียนรู้การทำความเข้าใจคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ จนถึงการลงมือทำ มาเตรียมเทรดด้วยพอร์ตจำลองไปพร้อมกันกับโครงการ TFEX FX Futures Trading Challenge 2022