TFEX
5 Min Read

"ทองคำ" สินทรัพย์เสี่ยงหรือสินทรัพย์ปลอดภัยเอาไงแน่

by TFEX
"ทองคำ" สินทรัพย์เสี่ยงหรือสินทรัพย์ปลอดภัยเอาไงแน่

          เขาบอกว่า “ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย” บ้างก็บอกว่า “ลงทุนทองคำเสี่ยง” สรุปแล้วทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือสินทรัพย์เสี่ยงกันแน่นะ

          ก่อนอื่นอาจจะต้องนิยามคำว่า “เสี่ยง” กันก่อน ในการลงทุน “ความเสี่ยง” หมายถึงความไม่แน่นอนของผลตอบแทน (หรือขาดทุน) ที่ได้รับ เช่นถ้าเรานำเงินออมไปฝากประจำกับธนาคารอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี โดยเราฝากต้นปีและถอนออกเมื่อครบ 1 ปี เราจะได้ดอกเบี้ย 3% ก่อนหักภาษี แบบนี้ก็ไม่เสี่ยงเพราะสามารถคำนวณผลตอบแทนได้แน่นอน

          แต่หากเราเลือกลงทุนทองคำ ถ้าเราซื้อทองคำไว้ต้นปีและถือไปจนครบ 1 ปีเราอาจจะไม่สามารถประเมินได้ว่าเราจะได้กำไรเท่าไหร่หรืออาจจะขาดทุน แบบนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยในการลงทุนเราวัดกันที่ความผันผวนของสินทรัพย์ หรือก็หมายความว่าในแต่ละช่วงเวลานั้น ราคาสินทรัพย์มีการขึ้นลงมากหรือน้อยเพียงใด การขึ้นลงมากก็มีโอกาสสร้างกำไรหรือขาดทุนมาก หากขึ้นลงน้อยก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้น้อย แต่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็น้อยลงตามด้วยเช่นกัน อย่างคำที่เรามักพูดกัน “High risk high return” แน่นอนว่า low risk ก็ low return เช่นกัน

          อ่านมาถึงตรงนี้นักลงทุนก็อาจจะมองว่า เช่นนั้นทองคำก็น่าจะเป็นสินทรัพย์เสี่ยงเพราะเมื่อมองการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาราคาทองคำมีความผันผวนอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงนั้นทองคำก็ยังถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสูงเช่นกัน

          เหตุใดทองคำจึงยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของทองคำมักจะเกิดขึ้นในช่วงภาวะไม่ปกติที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน เช่นภาวะสงคราม เงินเฟ้อในระดับสูง การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติราคาน้ำมัน หรือวิกฤติความเชื่อมั่นที่มีต่อสกุลเงินสำคัญเป็นต้น เพราะในภาวะการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนเริ่มไม่แน่ใจในการถือสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อวิกฤติ เช่นหุ้น หรือ fiat money ตัวอย่างในอดีตที่สะท้อนให้เห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์สำหรับเป็นที่พักเงินนั้น เช่นวิกฤติราคาน้ำมันปี 2016, วิกฤติซับไพร์มปี 2009 หรือวิกฤติหนี้กรีซปี 2011 เป็นต้น

          ในประเด็นการย้ายเงินเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำนั้น อาจจะไม่ได้หมายถึงความต้องการความปลอดภัยในการถือทองคำอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเป็นการมองว่าทองคำจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงภาวะการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อและมองเหมือนกันว่าทองคำจะเป็นแหล่งพักเงินที่ดีทำให้ราคามีการปรับตัวขึ้นได้ดีเมื่อเทียบสินทรัพย์อื่น หรือที่เรามักจะได้ยินกันว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อสูง (hyperinflation) ทองคำก็จะกลายเป็นที่ต้องการเช่นกัน นั่นทำให้ราคาทองคำขึ้นได้ดีในช่วงเวลาดังกล่าว

          อีกประการคือการย้ายการถือครองจาก fiat money หรือสกุลเงินที่เราให้มูลค่า เช่นดอลลาร์ บาท หยวน เยน ยูโร ซึ่งสกุลเงินเหล่านี้ต้องใช้ความน่าเชื่อถือและความแข็งแรงทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ออกเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจหรือฐานะทางการเงินการคลังของประเทศนั้นเริ่มไม่น่าเชื่อถือหรืออาจจะมีความเสี่ยง ก็จะทำให้ผู้ถือเงินหรือออมเงิน โยกย้ายการถือครองความมั่งคั่งในรูปแบบของสกุลเงินเป็น real asset หรือสินทรัพย์ที่มีค่าด้วยตัวของมันเองอย่างทองคำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือช่วงวิกฤติซับไพร์มในปี 2009 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคาร และที่สำคัญคือการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ผ่าน QE การลดดอกเบี้ยและการผยุงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เงินดอลลาร์และความน่าเชื่อถือของดอลลาร์ลดต่ำลงและส่งผลให้เกิดขาขึ้นรอบใหญ่ของทองคำ ราคาสูงสุดของทองในประเทศช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 27,100 บาท ต่อบาททองคำ (ช่วงปี 2011)

          โดยสรุปจึงอาจจะกล่าวได้ว่าทองคำเป็นได้ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความผันผวนสูง ขณะเดียวกันก็เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤติซึ่งทำให้ทองคำยังคงมีเสน่ห์และสามารถสร้างโอกาสทำกำไร ประกอบกับปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างกำไรได้ทุกสภาพตลาดทั้งขาขึ้นและขาลงอย่าง Gold Online Futures และ Gold Future

ดูรายละเอียดสินค้า Gold Online Futures เพิ่มเติมได้ที่ linkout
ดูรายละเอียดสินค้า Gold Futures เพิ่มเติมได้ที่ linkout
ดูรายละเอียดสินค้า Gold-D เพิ่มเติมได้ที่ linkout

นักลงทุนที่สนใจศึกษาการลงทุนในทองคำล่วงหน้าสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทาง linkout 
บทความข้อมูลด้านการลงทุนใน TFEX เพิ่มเติม linkout
หรือ หากสนใจเปิดบัญชีเพื่อเริ่มลงทุนกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์คลิก linkout


แท็กที่เกี่ยวข้อง: แนวคิดเทรด Gold Futures
บทความที่เกี่ยวข้อง