TFEX
5 Min Read

มือใหม่เทรด TFEX ขั้นตอน บริหารความเสี่ยง และเงินลงทุนของผู้ลงทุนสายเทคนิค

by TFEX
มือใหม่เทรด TFEX ขั้นตอน บริหารความเสี่ยง และเงินลงทุนของผู้ลงทุนสายเทคนิค
มือใหม่เทรด TFEX ขั้นตอน บริหารความเสี่ยง และเงินลงทุนของผู้ลงทุนสายเทคนิค

          เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำที่ผู้ลงทุนสายเทคนิคมักจะแนะนำอยู่บ่อยๆ คือ “ถึงแม้จะอ่านกราฟหรือวิเคราะห์ทิศทางราคาได้เก่งขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารเงินในการซื้อขาย (Money Management) ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ” ยิ่งเป็นการซื้อขาย Futures หรือ Options อย่างเช่น SET50 Index Futures, Gold Futures หรือ Single Stock Futures ใน TFEX คำแนะนำที่บอกให้เราต้องรู้จักบริหารเงินในการซื้อขายก็ยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากกลไกการซื้อขายใน TFEX ใช้วิธีการวางเงินประกันแทนการจ่ายเงินเต็มจำนวน ทำให้มีอัตราเพิ่มของเงิน (Leverage) ซึ่งทำให้เกิดผลกำไรและขาดทุนจากการซื้อขายได้เร็วกว่าการซื้อขายหุ้นหลายเท่า คนส่วนใหญ่ที่สนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค เวลาตัดสินใจซื้อขายสินค้าใน TFEX มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นของการอ่านกราฟราคา กราฟ Volume หรือวิเคราะห์ Indicators เพื่อให้ได้คำตอบเพียงว่า

- จะลงมือซื้อขายสินค้าตัวไหนดี หรือตอนนี้มีตัวไหนบ้างที่น่าสนใจ
- สินค้าที่กำลังสนใจซื้อขาย ราคาน่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงในอนาคต
- ปัจจุบันเป็นจังหวะที่ลงมือซื้อขายได้หรือยัง

          ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำตอบจากคำถามเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินในการซื้อขายที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในการซื้อขายเลย เราจึงขอแนะนำขั้นตอนในการบริหารเงินในการซื้อขาย หลังจากได้สัญญาณซื้อขายจากการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคมาแล้ว เพื่อตัดสินใจว่าควรลงมือซื้อขายในแต่ละครั้งหรือไม่ ถ้าตัดสินใจซื้อขายจะซื้อขายในจำนวนเท่าไหร่ โดยมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ได้แก่

1. หลังจากได้สัญญาณให้ซื้อขายแล้ว จะตัดสินใจว่าจะลงมือซื้อขายหรือไม่
2. ถ้าตัดสินใจลงมือซื้อขาย จะกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อขายแต่ละครั้งไว้เท่าไหร่
3. จัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการซื้อขายแต่ละครั้ง เพื่อกระจายโอกาสสามารถซื้อขายสินค้าได้หลายๆ ตัว
4. สรุปจำนวนที่จะลงมือซื้อขายในแต่ละครั้ง

ขั้นตอนที่ 1 : ตัดสินใจว่าจะลงมือซื้อขายหรือไม่
       ถึงแม้การวิเคราะห์ข้อมูลจากกราฟราคา กราฟ Volume หรือ Indicators จะได้ข้อสรุปว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการซื้อขายแล้วก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจจะตัดสินใจไม่ลงมือซื้อขายในครั้งนั้นๆ ก็ได้ เนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง การตัดสินใจว่าจะลงมือซื้อขายหรือไม่จะพิจารณา “ความคุ้มค่า” โดยเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่คาดว่าจะได้รับในกรณีถ้าผลการซื้อขายครั้งนั้นเป็นกำไร (Reward) กับผลขาดทุนที่น่าจะเกิดขึ้น (Risk) ถ้าการซื้อขายครั้งนั้นผลออกมาเป็นขาดทุน (Reward to Risk Ratio) โดยทั่วไปค่า Reward to Risk ที่ถือว่าคุ้มค่าควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไป

ขั้นตอนที่ 2 : กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการซื้อขายแต่ละครั้ง
         การลงมือซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์แต่ละครั้งควรมีการกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งส่วนมากจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เช่น ถ้ามีเงินลงทุน 500,000 บาท และถ้าเรากำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% ในการซื้อขายแต่ละครั้งจะต้องขาดทุนไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น ซึ่งตัวเลข 2% ถือว่าเป็นคำแนะนำทั่วไปที่สามารถนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดี
 
ขั้นตอนที่ 3 : การจัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการซื้อขายแต่ละครั้ง
        เนื่องจากทุกคนมีเงินสำหรับใช้ในการซื้อขายจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรเงินทุนสูงสุดในการซื้อขายแต่ละครั้งด้วยการกระจายความเสี่ยงและการกระจายโอกาส สมมติว่าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท และต้องการกระจายความเสี่ยงในการซื้อขายสินค้าทั้งหมด 10 ตัว หมายความว่าในการซื้อขายแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินไม่เกิน 50,000 บาท
     ข้อแนะนำสำหรับขั้นตอนที่ 3 ผู้ลงทุนควรแบ่งเงินที่ใช้ในการซื้อขายแต่ละครั้งให้ไม่เกิน 10 - 15% ของเงินที่มีทั้งหมด ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายสินค้าพร้อมๆ กัน ได้มากที่สุดประมาณ 8 - 10 ตัว (กระจายความเสี่ยง + กระจายโอกาส)

ขั้นตอนที่ 4 สรุปจำนวนสัญญาที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง
          ในขั้นตอนที่ 2 และ 3 เรากำหนดเงื่อนไขของการบริหารเงินลงทุนก่อนตัดสินใจลงมือซื้อขาย 2 เงื่อนไข คือ
1) จำนวนเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง และ 2) จำนวนเงินสูงสุดที่จะใช้ในการลงทุนแต่ละครั้ง จากนั้นก็สามารถสรุปจำนวนสัญญาที่จะซื้อขายในแต่ละครั้งได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท จะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% และจะใช้เงินในการซื้อขายแต่ละครั้งไม่เกิน 15% ปัจจุบันกำลังสนใจซื้อ SET50 Index Futures ที่มีตัวคูณดัชนี 200 ณ ราคาปัจจุบัน 900 จุด เราคำนวณจุดที่จะตัดขาดทุนได้ที่ 890 จุด ราคาเป้าหมาย 925 จุด เราจะบริหารเงินในการซื้อขายอย่างไร?

    •  1. พิจารณาความคุ้มค่า
      ถ้าผลการซื้อขายออกมาเป็นกำไรน่าจะกำไร 925 - 900 = 25 จุด
      ถ้าผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุนจะขาดทุน 890 - 900 = -10 จุด
      Reward to Risk เท่ากับ 25/10 = 2.5 เท่า แปลว่าสัญญาณซื้อขายที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีความคุ้มค่า

    • 2. พิจารณาจากเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง
      เสี่ยงจะขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน 500,000 บาท = 10,000 บาท
      ถ้าผลการซื้อขายครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุน เราจะขาดทุนสัญญาละ 10 จุด หรือ 2,000 บาทต่อสัญญา
      เราไม่ต้องการเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 10,000 บาท
      ดังนั้น เราสามารถซื้อ SET50 Index Futures ได้ทั้งหมดไม่เกิน 10,000 / 2,000 = 5 สัญญา

    • 3. พิจารณาจากเงินที่จะใช้ในการซื้อขายสูงสุดในแต่ละครั้ง
      ใช้เงินซื้อหุ้นครั้งละไม่เกิน 15% ของ 500,000 บาท = 75,000 บาท
      อ้างอิงอัตราเงินประกันขั้นต้น ของ SET50 Index Futures ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่ 26,182 บาทต่อสัญญา
      ดังนั้น เราสามารถซื้อ SET50 Index Futures ได้ทั้งหมดไม่เกิน 75,000 / 26,182 = 2.86 สัญญา ปัดลงเหลือ 2 สัญญา

    • 4. สรุปจำนวนหุ้นที่จะซื้อขายในครั้งนี้
      จากขั้นตอนที่ 3 สามารถซื้อ SET50 Index Futures ได้ 5 สัญญา
      จากขั้นตอนที่ 4 สามารถซื้อ SET50 Index Futures ได้ 2 สัญญา
         จึงสรุปว่าในครั้งนี้ ตัดสินใจซื้อ SET50 Index Futures จำนวน 2 สัญญา (เลือกตัวที่น้อยกว่า) เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าสัญญาณที่จะลงมือซื้อขายในและแต่ละครั้งจะมีผลออกมาเป็นกำไรหรือขาดทุน ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีความจำเป็นต้องการบริหารเงินที่ใช้ในการซื้อขาย เพื่อไม่ให้ผลการซื้อขายที่ขาดทุนครั้งใดครั้งหนึ่งหรือผลการซื้อขายเพียงไม่กี่ครั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินที่มีทั้งหมด จึงต้องกระจายความเสี่ยงและโอกาสเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถอยู่รอดและซื้อขายใน TFEX ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
       อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นคือ ด้วยกลไกการซื้อขายใน TFEX ที่ใช้การวางเงินประกันแทนการจ่ายเงินเต็มจำนวนทำให้มีอัตราเพิ่มของเงิน ผลกำไรและขาดทุนจึงได้เร็วกว่าการซื้อขายหุ้นหลายเท่า ซึ่งถ้าหากได้กำไรก็ดีไป กลับกันหากขาดทุนก็อาจทำให้มีปัญหาทางเงินระยะยาวได้เลย ดังนั้นหากต้องการลงทุนใน TFEX ต้องรู้จักศึกษาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ควรวางแผนการลงทุนและมีวินัย เมื่อมีกำไรต้องรู้จักทำกำไร หรือเมื่อรู้ว่าผิดทาง ต้องรู้จักตัดขาดทุน ไม่ปล่อยให้การขาดทุนจนเป็นปัญหาทางการเงินระยะยาว ควรปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน หรือโบรเกอร์ของท่าน ก่อนการตัดสินใจลงทุน

บทความที่เกี่ยวข้อง